ชื่อทัวร์: รอยเลื่อน อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์
(จำนวน 1 ซีน)
เปิดด้วยสมาร์ทโฟนและรับชมผ่านแว่น VR ได้ที่
https://www.thinglink.com/video/1613419697179459586
รูปถ่าย 360 องศาในซีนที่ 1: รอยเลื่อน อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์
อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์
คำอธิบายจุดศึกษา
จุดศึกษาบ้านซับเตยตั้งอยู่ ณ พิกัด 16° 3’52.74″N100°58’0.22″E อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประเทศไทย ซึ่งอยู่ในบริเวณตอนล่างของแนวเทือกเขาตะวันตกของจังหวัดเพชรบูรณ์ สามารถเข้าถึงได้โดยถนนหมายเลข 2398 จากแยกนาเฉลียง อำเภอหนองไผ่ จุดศึกษานี้มีลักษณะเป็น เหมืองขุด ใกล้ตีนเขาของเขาซับเตียง หินที่พบในจุดศึกษาสามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ หินโคลนเนื้อซิลิกา (siliceous mudstone) ซึ่งแสดงเป็นชั้นหินที่เปลี่ยนแปลงลักษณะค่อนข้างสูง หินโคลนเนื้อแคลไซต์(calcareous mudstone) มีสีดำวางตัวอยู่ด้านล่างหินโคลนเนื้อซิลิกา ลักษณะที่พบเป็นระนาบชั้นหินที่มีรอยครูดแสดงการเลื่อนชัดเจน และหินทัฟฟ์เนื้อแอนดีไซต์ (andesitic tuff) ที่มีการผุพังสูงและไม่แสดงชั้นหิน
ธรณีวิทยาโครงสร้าง
จุดศึกษาแสดงการเปลี่ยนแปลงลักษณะทั้งแบบอ่อนนุ่ม (ductile) และเปราะ (brittle) โดยมีรายละเอียดดังนี้
รอยคดโค้ง
รอยคดโค้งที่จุดศึกษานี้แสดงลักษณะการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง โดยเฉพาะบริเวณที่ใกล้รอยเลื่อนขนาดใหญ่(main fault)หากพิจารณาจากมุมระหว่างแขน (limb)สองข้างของรอยคดโค้ง สามารถจำแนกได้เป็น รอยคดโค้งแบบไทต์ (tight fold) ซึ่งมีมุมระหว่างแขนประมาณ 30 องศา เนื่องจากรอยคดโค้ง ณ จุดศึกษานี้อยู่บนผาสูงทำให้ไม่สามารถปีนขึ้นไปเก็บข้อมูลการวางตัวของแกนรอยคดโค้ง (fold axis) จึงสันนิษฐานจากทิศที่มองคาดว่ามีแนวการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้
รอยเลื่อน
จุดศึกษานี้สามารถเก็บข้อมูลรอยเลื่อนได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากหินโผล่ปรากฏรอยครูด (slickenline) อันเป็นหลักฐานของการเลื่อนจำนวนมาก รอยเลื่อนมีการวางตัวส่วนมากในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีลักษณะการเลื่อนตัวแบบเฉียง (oblique slip) เนื่องจากรอยครูดมีทิศทางการเลื่อนที่ทำมุมกับแนวการวางตัวของรอยเลื่อน โดยมีการเลื่อนแบบเฉียงจากขวาไปซ้าย (dextral oblique slip)
นอกจากรอยครูดที่แสดงการเลื่อนแบบเฉียง ในจุดศึกษานี้ยังพบโครงสร้างดอกไม้บวก (positive flower structure) ซึ่งเป็นผลจากการโดนบีบอัดในแนวที่ทำมุมกับการวางตัวของรอยเลื่อนหลัก คือ 22/74SE ในรอยเลื่อนแสดงลักษณะของโครงสร้างก่ายทับขนาดเล็ก (small-scale duplex structure) บ่งบอกถึงการโดนแรงบีบอัด ซึ่งคาดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้หินโคลนเนื้อซิลิกาบริเวณใกล้รอยเลื่อนหลักนี้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะสูงเมื่อเทียบกับชั้นหินเดียวกันในบริเวณที่ห่างออกไปจากรอยเลื่อนหลัก
Comments are closed.