เทคโนโลยีเสมือนจริง

ปัจจุบันคำว่า เทคโนโลยีเสมือนจริง หรือ ความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality หรือ VR) มีชื่อเรียกและคำนิยามที่หลากหลาย ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า เป็นการสร้างภาพจำลองที่เสมือนจริงด้วยข้อมูลดิจิทัลแทนที่สภาพแวดล้อมจริงทั้งหมด เมื่อมองผ่านแว่น VR ผู้ใช้งานจะรู้สึกได้ว่าตนเองได้เข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ที่ถูกจำลองขึ้นจากคอมพิวเตอร์แบบ 360 องศา ความรู้สึกที่ได้เข้าไปอยู่ร่วมกับความเป็นจริงเสมือนนี้สามารถมีได้หลายระดับขึ้นอยู่กับอุปกรณ์แสดงผล ระบบเสียง และคุณภาพของสภาพแวดล้อมจำลอง ซึ่งมีทั้งการจำลองแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ 

อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงเสมือนมีความแตกต่างจาก ความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality หรือ AR) ที่เป็นเทคโนโลยีที่นำแบบจำลองคอมพิวเตอร์ เช่น ภาพกราฟิก วิดีโอ รูปทรงสามมิติ มาซ้อนทับบนสภาพแวดล้อมจริง สามารถใช้งานได้กับสมาร์ทโฟนโดยไม่ต้องมีแว่นตา VR ผู้ใช้งานสามารถหมุนดูข้อมูลเหล่านี้ได้แบบ 360 องศา และย่อขยายแบบจำลองด้วยการเปลี่ยนระยะสมาร์ทโฟนจากเป้าหมาย (AR marker) ที่กำหนดไว้ในสภาพแวดล้อมจริง

ทั้งนี้ หากผู้ใช้งานสวมแว่น VR แล้วเห็นสภาพแวดล้อมจริงผสมกับแบบจำลองคอมพิวเตอร์ โดยแบบจำลองคอมพิวเตอร์สามารถตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมจริงได้เหมือนกับว่าแบบจำลองนั้นมีอยู่จริง จะเรียกว่าเป็น ความเป็นจริงผสม (Mixed Reality หรือ MR


ภาพเปรียบเทียบเทคโนโลยีเสมือนจริงระหว่าง (ซ้าย) ความเป็นจริงเสมือน (กลาง) ความเป็นจริงเสริม และ (ขวา) ความเป็นจริงผสม โดยความเป็นจริงเสมือนจะเป็นภาพที่สร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ส่วนความเป็นจริงเสริมจะนำรูปหุ่นยนต์มาซ้อนทับบนสภาพแวดล้อมจริง ขณะที่ความเป็นจริงผสมจะแสดงลักษณะรูปร่างและตำแหน่งของหุ่นยนต์แบบสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมจริง เสมือนว่ามีหุ่นยนต์อยู่ในห้องนั่งเล่นจริง ๆ แหล่งที่มาของภาพ: https://twitter.com/vr_ar_mr/status/756528144455241728


ห้องเรียนธรณีวิทยาเสมือนจริง

ห้องเรียนธรณีวิทยาเสมือนจริง หมายถึง ห้องเรียนที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงในการเรียนการสอนด้านธรณีวิทยา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเห็นสภาพทางธรณีวิทยาจากสถานที่ต่าง ๆ ในรูปแบบ 360 องศา หรือเข้าใจกระบวนการทางธรณีวิทยามากขึ้นจากแผนภาพอินโฟกราฟิกแบบ 360 องศา โดยเมื่อมองผ่านแว่น VR ผู้เรียนยังสามารถกดดูคำอธิบายเพิ่มเติมตรงจุดสนใจในสภาพแวดล้อมเสมือนจริงได้ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความสนุกระหว่างการเรียน 

ลักษณะของสภาพแวดล้อมเสมือนจริงสร้างขึ้นบนเว็บไซต์นี้จะเป็นการนำภาพนิ่งที่ถ่ายจากกล้อง 360 องศา หรือจากภาพนิ่งที่ถ่ายจากสมาร์ทโฟนด้วยแอพลิเคชัน Google Street View มาเผยแพร่ในรูปแบบของความเป็นจริงเสมือนผ่านเว็บแอพลิเคชัน Google Tour Creator โดยที่ผู้เรียนสามารถเลือกดูผ่านสมาร์ทโฟนกับแว่น VR หรือดูจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ไม่ต้องใช้แว่น VR ก็ได้

ตัวอย่างการจัดห้องเรียนธรณีวิทยาเสมือนจริง ของภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากกิจกรรมโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน บรรยายกาศการเรียนการสอนในห้องเรียนธรณีวิทยาเสมือนจริง ผู้เรียนถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย โดยผู้สอน (เสื้อสีเหลือง) ได้ใช้โปสเตอร์ภาพถ่ายจากสภาพแวดล้อมจริงช่วยในการสื่อสารระหว่างผู้เรียนที่กำลังดูแว่น VR กับผู้เรียนที่ไม่ได้ใช้แว่น VR 


ระดับความรู้สึกสมจริงในห้องเรียนเสมือนจริง

สภาพแวดล้อมเสมือนจริงที่สร้างขึ้นจะเป็นการจำลองภาพเสมือนกับว่าผู้เรียนได้ยืนอยู่ในสถานที่นั้น ๆ เช่น น้ำตก เหมืองหิน หรือห้องจัดแสดงนิทรรศการ เป็นต้น แต่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายตำแหน่งได้แบบอิสระ ภาพที่ปรากฏจะเป็นภาพนิ่งแบบ 2 มิติที่ถูกดัดแปลงให้เป็นรูปทรงกลม ตำแหน่งดวงตาของผู้เรียนจะอยู่ที่จุดศูนย์กลางของโลกเสมือนจริง ซึ่งจะรับชมส่วนต่าง ๆ ของภาพได้จากการหมุนรอบศีรษะเท่านั้น